ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรูปแบบกราฟในการพยากรณ์การเคลื่อนไหวของราคาในอนาคต
เขียนโดย Aaron Akwu, Head of Education Hantec Markets
รูปแบบกราฟมีส่วนสำคัญในการวิเคราะห์ทางเทคนิคในโลกของการเทรด forex และหุ้น การวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลตลาดในอดีต เช่น ราคาและปริมาณ เพื่อระบุแนวโน้มและรูปแบบที่สามารถช่วยคาดการณ์การเคลื่อนไหวของตลาดในอนาคต
รูปแบบกราฟ (Chart Patterns) คือการวิเคราะห์ทางเทคนิคประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการดูรูปแบบกราฟหุ้นหรือสกุลเงินเพื่อหาโอกาสในการเทรดที่เป็นไปได้ รูปแบบเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการเคลื่อนไหวของราคาตามเวลาที่เปลี่ยนไป และช่วยให้เทรดเดอร์คาดการณ์การเคลื่อนไหวของตลาดในอนาคตได้อย่างแม่นยำในระดับหนึ่ง
เหตุใดการจดจำรูปแบบกราฟจึงสำคัญต่อเทรดเดอร์
การจดจำรูปแบบเป็นทักษะที่จำเป็นต่อเทรดเดอร์ และสร้างความแตกต่างในความสำเร็จหรือล้มเหลวได้อย่างมีนัยสำคัญ การจำจดรูปแบบมีความสำคัญต่อการเทรดด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ในฐานะเทรดเดอร์ คุณต้องทำการตัดสินใจโดยอิงจากแนวโน้มของตลาด การวิเคราะห์ทางเทคนิค และปัจจัยสำคัญอื่นๆ คุณต้องวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล รวมถึงการเคลื่อนไหวราคา ปริมาณการเทรด และความเชื่อมั่นในตลาด นี่คือจุดที่การจดจำรูปแบบมีความสำคัญ
เทรดเดอร์สามารถระบุรูปแบบที่อาจบ่งบอกถึงการกลับตัวของแนวโน้ม การทะลุกรอบราคา (Breakout) หรือความต่อเนื่องของแนวโน้มปัจจุบันได้จากการศึกษากราฟราคาในอดีต รูปแบบเหล่านี้สามารถช่วยให้เทรดเดอร์คาดการณ์ได้ดีขึ้น และตัดสินใจเทรดโดยอิงจากข้อมูลตัวอย่างเช่น
เทรดเดอร์ที่จดจำรูปแบบหัวและไหล่ (Head and Shoulders Pattern) อาจคาดการณ์ได้ว่าราคาจะกลับตัวและเปิดสถานะขาย ในขณะที่เทรดเดอร์ที่จดจำรูปแบบสามเหลี่ยมขาขึ้นอาจคาดการณ์ว่าราคาจะทะลุกรอบและเปิดสถานะซื้อ
การจดจำรูปแบบยังสามารถช่วยให้เทรดเดอร์จัดการความเสี่ยงได้ เทรดเดอร์สามารถหลีกเลี่ยงการเทรดที่มีความเสี่ยงสูงและปกป้องเงินทุนของตนได้ด้วยการระบุรูปแบบที่ส่งสัญญาณการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น ในทางกลับกัน หากเทรดเดอร์จดจำรูปแบบที่ทำกำไรได้ จะทำให้ทำกำไรได้มากขึ้นและเพิ่มผลตอบแทนได้
ประเภทของรูปแบบกราฟ:
รูปแบบกราฟมี 3 ประเภทหลัก ได้แก่ รูปแบบต่อเนื่อง (Continuation Patterns) รูปแบบการกลับตัว (Reversal Patterns) และรูปแบบที่เป็นไปได้สองทาง (Bilateral Patterns)
รูปแบบต่อเนื่อง (Continuation Patterns) :
รูปแบบต่อเนื่องเป็นรูปแบบกราฟที่บ่งชี้ว่าหุ้นหรือตลาดมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปตามแนวโน้มปัจจุบัน รูปแบบเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากการหยุดชั่วคราวหรือช่วงรวมฐาน รูปแบบต่อเนื่องทั่วไป ได้แก่ รูปแบบธง (Flag Pattern) รูปแบบชายธง (Pennant Pattern) และเวดจ์แพทเทิร์น (Wedge Pattern)
รูปแบบธง (Flag Pattern) เกิดขึ้นเมื่อราคาของหุ้นหรือตลาดทะลุออกจากรูปแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กที่คล้ายกับธง ซึ่งบ่งชี้ว่าแนวโน้มจะยังคงดำเนินต่อไปในทิศทางเดิม
รูปแบบชายธง (Pennant Pattern) คล้ายกับรูปแบบธง แต่กราฟจะเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ แทนที่จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการรวมฐานชั่วคราวก่อนที่แนวโน้มจะดำเนินต่อไป
เวดจ์แพทเทิร์น (Wedge Pattern) คือชุดของเส้นแนวโน้มที่เบนเข้าหากัน ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของแนวโน้มปัจจุบันก่อนที่จะดำเนินต่อไปในทิศทางเดิม
รูปแบบกลับตัว (Reversal Patterns):
ในทางกลับกัน รูปแบบกลับตัวบ่งชี้ว่าหุ้นหรือตลาดมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทิศทางไป รูปแบบเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากเกิดแนวโน้มขาขึ้นหรือขาลงเป็นเวลานาน รูปแบบกลับตัวที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ รูปแบบหัวและไหล่ (Head and Shoulders Pattern) รูปแบบดับเบิลท็อป (Double Top Pattern) และรูปแบบดับเบิลบอททอม (Double Bottom Pattern)
รูปแบบหัวและไหล่ (Head and Shoulders Pattern) ตั้งชื่อตามความคล้ายคลึงกับหัวที่มีไหล่สองข้าง เป็นการบ่งชี้ว่าหุ้นหรือตลาดขึ้นถึงจุดสูงสุดและมีแนวโน้มที่จะเริ่มลดระดับลง
รูปแบบดับเบิลท็อป (Double Top Pattern) เกิดขึ้นเมื่อราคาขึ้นถึงจุดสูงสุดสองครั้ง แต่ไม่สามารถทะลุผ่านแนวต้านได้ ซึ่งบ่งชี้ถึงการกลับตัวของแนวโน้มที่เป็นไปได้
รูปแบบดับเบิลบอททอม (Double Bottom Pattern) ตรงข้ามกับรูปแบบดับเบิลท็อป (Double Top Pattern) บ่งชี้ว่าหุ้นหรือตลาดได้ลงถึงจุดต่ำสุดสองครั้งแต่ไม่สามารถทะลุผ่านแนวรับได้ ซึ่งเป็นสัญญาณการกลับตัวของแนวโน้มที่เป็นไปได้
รูปแบบที่เป็นไปได้สองทาง (Bilateral Patterns):
รูปแบบที่เป็นไปได้สองทางไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงความต่อเนื่องหรือการกลับตัวของแนวโน้ม รูปแบบเหล่านี้สามารถเป็นได้ทั้งแบบสมมาตร เช่น รูปแบบสามเหลี่ยม (Triangle Pattern) หรือแบบอสมมาตร (Asymmetrical) เช่น รูปแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Rectangle Pattern) รูปแบบเหล่านี้มักบ่งบอกถึงช่วงเวลาที่ตลาดมีความไม่แน่นอน ช่วงเวลาที่เทรดเดอร์และนักลงทุนต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจ
เส้นแนวโน้มต่างๆ
เส้นแนวโน้มเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ใช้เพื่อระบุและติดตามทิศทางของแนวโน้มในตลาด forex เส้นแนวโน้มคือเส้นตรงที่เชื่อมจุดราคาบนกราฟตั้งแต่สองจุดขึ้นไป จุดราคาเหล่านี้มักสวิงสูงหรือสวิงต่ำ ซึ่งแสดงถึงระดับแนวรับหรือแนวต้านที่สำคัญ
ในรูปแบบกราฟ เส้นแนวโน้มสามารถใช้กำหนดแนวโน้มโดยรวมของคู่สกุลเงินได้ ถ้าเส้นแนวโน้มลาดขึ้น แสดงว่าเป็นแนวโน้มขาขึ้น ในขณะที่ถ้าเส้นแนวโน้มลาดลง แสดงว่าเป็นแนวโน้มขาลง
เทรดเดอร์สามารถใช้เส้นแนวโน้มเพื่อระบุจุดเข้าและออกที่เป็นไปได้ในตลาด รวมถึงกำหนดระดับจุดตัดขาดทุนและจุดทำกำไรได้
ในการวาดเส้นแนวโน้ม ก่อนอื่นเทรดเดอร์ต้องระบุจุดสวิงสูงสุดหรือต่ำสุดที่มีนัยสำคัญตั้งแต่สองจุดขึ้นไปบนกราฟ จุดเหล่านี้ควรอยู่ห่างกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ยังคงสร้างเป็นแนวเส้นที่ชัดเจน จากนั้นให้ลากเส้นแนวโน้มด้วยการเชื่อมจุดสองจุดเข้าด้วยกัน และลากเส้นแนวโน้มนั้นออกไปทางด้านขวาของกราฟ
เมื่อลากเส้นแนวโน้มแล้ว เทรดเดอร์สามารถใช้เส้นนี้เพื่อระบุแนวรับหรือแนวต้านที่เป็นไปได้ ในแนวโน้มขาขึ้น เทรดเดอร์อาจพิจารณาซื้อใกล้กับเส้นแนวโน้มที่อาจเป็นระดับแนวรับ ในแนวโน้มขาลง เทรดเดอร์อาจพิจารณาขายใกล้เส้นแนวโน้มที่อาจเป็นระดับแนวต้าน
ประเภทของแนวโน้ม:
ในตลาด forex มีแนวโน้มหลักสามประเภท ได้แก่ แนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) แนวโน้มขาลง (Downtrend) และแนวโน้มที่ไม่มีทิศทางที่แน่นอน (Sideways)
- แนวโน้มขาขึ้นเกิดขึ้นเมื่อราคาของคู่สกุลเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไปซึ่งหมายความว่าสกุลเงินจะแข็งค่าขึ้นและมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆในคู่สกุลเงินนี้เทรดเดอร์ที่วิเคราะห์ได้ว่าเป็นแนวโน้มขาขึ้นมักจะมองหาโอกาสในการซื้อโดยหวังว่าจะได้กำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- แนวโน้มขาลงเกิดขึ้นเมื่อราคาของคู่สกุลเงินลดลงอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่ผ่านไป ซึ่งหมายความว่าสกุลเงินหนึ่งจะอ่อนค่าลงและมีค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับอีกสกุลเงินอื่นหนึ่งในคู่สกุลเงินนี้ เทรดเดอร์ที่วิเคราะห์ได้ว่าเป็นแนวโน้มขาลงมักจะมองหาโอกาสในการขาย โดยหวังว่าจะได้กำไรจากราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
- แนวโน้มที่ไม่มีทิศทางที่แน่นอนเกิดขึ้นเมื่อราคาคู่สกุลเงินเคลื่อนไหวในช่วงที่ค่อนข้างแคบ โดยไม่มีทิศทางขึ้นหรือลงที่ชัดเจน ในตลาดประเภทนี้ เทรดเดอร์มักจะมองหาโอกาสซื้อ (Buy) ที่ช่วงราคาต่ำ (บริเวณแนวรับสำคัญ – Key Support) และขายที่ช่วงราคาสูง (บริเวณแนวต้านสำคัญ – Key Resistance) โดยหวังว่าจะได้กำไรจากความผันผวนของราคา
หัวและไหล่ (Head and Shoulders)
ในการเทรด forex “หัวและไหล่ – Head and Shoulders” เป็นศัพท์ที่ใช้อธิบายรูปแบบการวิเคราะห์ทางเทคนิคยอดนิยม รูปแบบนี้มักใช้เพื่อคาดการณ์การกลับตัวของแนวโน้มขาลงของราคาคู่สกุลเงิน
รูปแบบ “หัวและไหล่” เป็นรูปแบบต่อเนื่องประเภทหนึ่ง ซึ่งหมายความว่ามักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางของแนวโน้มขนาดใหญ่ ในกรณีของแนวโน้มขาลง รูปแบบ “หัวและไหล่” มักจะก่อตัวขึ้นหลังจากที่ราคาลดลงอย่างมาก ตามด้วยแนวโน้มขาขึ้นในช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะกลับสู่แนวโน้มขาลงโดยรวม
รูปแบบนี้มีลักษณะเป็นสามยอด โดยยอดตรงกลางเป็นยอดสูงสุด ยอดด้านข้างทั้งสองเรียกว่า “ไหล่” ในขณะที่ยอดตรงกลางเรียกว่า “หัว” เส้นคอของรูปแบบนี้เกิดจากการลากเส้นเชื่อมจุดที่ต่ำสุดสองจุดระหว่างไหล่และหัว
รูปแบบต่อเนื่องขาขึ้นเกิดขึ้นเมื่อราคาทะลุเส้นคอ จากการศึกษารูปแบบกราฟหุ้นและหากระบุรูปแบบเหล่านี้ เทรดเดอร์มักจะใช้จุดนี้เป็นสัญญาณในการซื้อคู่สกุลเงิน โดยคาดหวังว่าราคาจะขึ้นต่อ โดยทั่วไป รูปแบบจะได้รับการยืนยันเมื่อราคาสูงขึ้นเหนือจุดสูงสุดของยอดตรงกลาง
เทรดเดอร์จำนวนมากใช้กราฟราคาเพื่อระบุรูปแบบ เช่น รูปแบบ “หัวและไหล่” เมื่อศึกษารูปแบบกราฟหุ้นและระบุรูปแบบเหล่านี้ เทรดเดอร์จะสามารถเข้าใจสภาวะตลาดในปัจจุบันได้ดีขึ้น และตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลได้ว่าเมื่อใดควรซื้อหรือขายคู่สกุลเงิน
ดับเบิลท็อป (Double Top)
รูปแบบดับเบิลท็อปเป็นหนึ่งในรูปแบบกราฟที่พบได้บ่อยที่สุดในการเทรด forex รูปแบบนี้เป็นรูปแบบการกลับตัวเป็นขาลง (Bearish Reversal Pattern) ซึ่งส่งสัญญาณถึงการสิ้นสุดแนวโน้มขาขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มขาลง เทรดเดอร์ใช้รูปแบบนี้เพื่อระบุโอกาสในการขายที่เป็นไปได้
ในรูปแบบดับเบิลท็อป กราฟราคาจะสร้างยอดสองยอดซึ่งมีความสูงเท่ากันโดยประมาณ ยอดแรกเกิดขึ้นในช่วงขาขึ้น ตามด้วยการย่อตัวลงชั่วคราว (Pullback) ยอดที่สองเกิดขึ้นเมื่อราคาพยายามทำจุดสูงสุดใหม่แต่ล้มเหลว ทำให้เกิดเป็นแนวต้าน (Resistance Level)
เมื่อยอดที่สองก่อตัวขึ้น ราคามักจะเริ่มขยับลง ทะลุระดับแนวรับ (Support Level) ที่ตั้งไว้ระหว่างการย่อตัว นี่เป็นสัญญาณการสิ้นสุดของแนวโน้มขาขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นแนวโน้มขาลงครั้งใหม่
เทรดเดอร์สามารถระบุรูปแบบดับเบิลท็อปได้โดยการมองหายอดสองยอดที่ราคามีการย่อตัวตรงกลาง ราคาควรย่อตัวอย่างน้อย 10-20% จากจุดสูงสุด เมื่อยอดที่สองก่อตัวขึ้น เทรดเดอร์สามารถเข้าสู่สถานะขายโดยมีจุดตัดขาดทุนเหนือยอดที่สอง
ดับเบิลบอททอม (Double Bottom)
รูปแบบดับเบิลบอททอม (Double Bottom) เป็นหนึ่งในรูปแบบกราฟการกลับตัวที่ได้รับความนิยมมากที่เทรดเดอร์ forex นิยมใช้มากที่สุด รูปแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อราคาของคู่สกุลเงินร่วงลงไปที่ระดับแนวรับ เด้งกลับขึ้น จากนั้นตกลงอีกครั้งเพื่อทดสอบระดับแนวรับเดิม หากระดับแนวรับยังคงอยู่และราคาดีดตัวขึ้นอีกครั้ง สร้างรูปตัว “W” บนกราฟ เทรดเดอร์อาจตีความสิ่งนี้ว่าเป็นสัญญาณขาขึ้น
รูปแบบดับเบิลบอททอมถือเป็นรูปแบบการกลับตัวเป็นขาขึ้น (Bullish Reversal Pattern) เนื่องจากเป็นสัญญาณว่าคู่สกุลเงินได้ร่วงถึงจุดต่ำสุดแล้วและอาจเริ่มมีแนวโน้มขาขึ้น เทรดเดอร์ forex มักจะใช้รูปแบบนี้เพื่อระบุโอกาสในการซื้อที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากคาดว่าราคาอาจยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปหลังจากที่เด้งจากระดับแนวรับเป็นครั้งที่สอง
สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าถึงแม้รูปแบบดับเบิลบอททอมจะเป็นหนึ่งในรูปแบบกราฟในการเทรดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เทรดเดอร์ควรใช้ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคและตัวบ่งชี้อื่นๆ เพื่อยืนยันความถูกต้องของสัญญาณ เทรดเดอร์อาจต้องการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สภาวะตลาดและเหตุการณ์ข่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาของคู่สกุลเงิน
รูปแบบ Rounding Bottom
ในการเทรด รูปแบบกราฟมักจะใช้เพื่อระบุการเคลื่อนไหวของราคาที่เป็นไปได้และทำการตัดสินใจเทรด หนึ่งในนั้นคือรูปแบบ Rounding Bottom หรือที่เรียกว่า ก้นจานหรือก้นชาม
รูปแบบ Rounding Bottom เป็นรูปแบบกราฟกลับตัวที่เกิดขึ้นหลังจากแนวโน้มขาลง ซึ่งดูคล้ายกับชามหรือรูปตัว “U” และบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในแนวโน้มที่เกิดขึ้น รูปแบบนี้เกิดจากการที่ราคาค่อยๆ ลดลง ตามมาด้วยการรวมฐานราคาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ราคาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
เทรดเดอร์มักจะใช้รูปแบบนี้เพื่อคาดการณ์พฤติกรรมราคาในอนาคต เนื่องจากรูปแบบจานหงายบ่งชี้ว่าแนวโน้มขาลงอาจกำลังจะสิ้นสุดลงและแนวโน้มขาขึ้นใหม่อาจกำลังเริ่มต้นขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้เทรดเดอร์เข้าสู่สถานะซื้อ และเทรดไปตามแนวโน้มขาขึ้นใหม่ได้
สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่า แม้รูปแบบจานหงายจะเป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ แต่ไม่ควรพึ่งพารูปแบบนี้เพียงอย่างเดียว เทรดเดอร์ควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ รวมด้วย เช่น ระดับแนวรับและแนวต้าน ตลอดจนความเชื่อมั่นตลาดอยู่เสมอก่อนตัดสินใจเทรด
รูปแบบถ้วยและด้ามจับ (Cup and Handle)
นักวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้รูปแบบกราฟที่หลากหลายเพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของราคาและทำนายแนวโน้มของตลาดในอนาคต รูปแบบหนึ่งที่นิยมคือรูปแบบ Cup and Handle ซึ่งเป็นรูปแบบราคาต่อเนื่องที่เป็นที่นิยม
รูปแบบ Cup and Handle มีลักษณะเเป็นรูปแบบถ้วยในกราฟราคา ตามด้วยรูปแบบด้ามจับที่มีขนาดเล็กกว่า รูปแบบส่วนถ้วยแสดงราคาที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ตามด้วยการลดลงเล็กน้อยก่อนที่ส่วนด้ามจับจะเริ่มขึ้น
เทรดเดอร์ส่วนใหญ่มองหารูปแบบนี้เนื่องจากรูปแบบนี้บ่งบอกถึงความต่อเนื่องของแนวโน้มราคาก่อนหน้า ตัวอย่างเช่น หากรูปแบบถ้วยกาแฟเกิดขึ้นหลังจากแนวโน้มขาขึ้น แสดงว่าราคาจะยังคงขึ้นต่อหลังจากส่วนด้ามจับเสร็จสมบูรณ์
เพื่อยืนยันรูปแบบ เทรดเดอร์มักจะมองหาการทะลุกรอบเหนือระดับแนวต้านที่เกิดขึ้นจากด้านบนของถ้วย เมื่อราคาทะลุระดับนี้ จะถือเป็นสัญญาณให้ซื้อและถือสกุลเงิน โดยคาดการณ์ว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอีก
เวดจ์แพทเทิร์น (Wedge Patterns)
รูปแบบเวดจ์แพทเทิร์นเป็นหนึ่งในรูปแบบกราฟที่ใช้บ่อยที่สุดในการวิเคราะห์ทางเทคนิค รูปแบบเวดจ์แพทเทิร์นสร้างขึ้นโดยการวาดเส้นแนวโน้มสองเส้น เส้นหนึ่งเชื่อมระหว่างจุดสูงสุดที่ต่ำกว่า และอีกเส้นที่เชื่อมจุดต่ำสุดที่ต่ำกว่า เส้นแนวโน้มเบนเข้าหากัน เกิดเป็นรูปร่างคล้ายลิ่มบนกราฟ
เวดจ์แพทเทิร์นเป็นตัวบ่งชี้ที่ได้รับความนิยมในหมู่เทรดเดอร์ forex เนื่องจากเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าแนวโน้มขาลงมีแนวโน้มที่จะกลับตัว เมื่อราคาทะลุออกจากเวดจ์แพทเทิร์น โดยทั่วไปจะบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นตลาด โดยมีผู้ซื้อเป็นผู้ควบคุมตลาด
เทรดเดอร์มักจะมองหาเวดจ์แพทเทิร์น 2 ประเภท: เวดจ์แพทเทิร์นชี้ขึ้นและเวดจ์แพทเทิร์นชี้ลง เวดแพทเทิร์นชี้ขึ้นเกิดขึ้นเมื่อราคารวมฐานระหว่างเส้นแนวโน้มที่ลาดขึ้นสองเส้น ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดกำลังสูญเสียโมเมนตัมและมีโอกาสกลับตัว ในทางกลับกัน เวดจ์แพทเทิร์นชี้ลงเกิดขึ้นเมื่อราคารวมฐานระหว่างเส้นแนวโน้มที่ลาดลงสองเส้น ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดมีแนวโน้มที่จะกลับตัวเป็นแนวโน้มขาลง
รูปแบบชายธงหรือธง (Pennant or Flags)
ในการเทรด รูปแบบชายธงหรือธงเป็นรูปแบบกราฟยอดนิยมที่เทรดเดอร์ใช้ในการระบุแนวโน้มกลับตัวหรือไปต่อ รูปแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อราคาของสินทรัพย์สร้างฐานหลังจากการเคลื่อนไหวที่แข็งแกร่งในแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดสามเหลี่ยมสมมาตรขนาดเล็กที่ดูเหมือนชายธงหรือธง
รูปแบบชายธงหรือธงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ที่เทรดเดอร์ใช้เพื่อกำหนดทิศทางของแนวโน้มตลาด เมื่อรูปแบบนี้ปรากฏบนกราฟ แสดงว่ามีการหยุดชั่วคราวหรือการรวมฐานในตลาด ก่อนที่ราคาจะดำเนินต่อในทิศทางเดิมแนวโน้มที่เกิดขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง รูปแบบนี้เป็นรูปแบบต่อเนื่อง
เทรดเดอร์สามารถใช้รูปแบบชายธงหรือธงเพื่อเข้าสู่ตลาดเมื่อราคาทะลุออกจากโซนราคารวมฐาน โดยทั่วไป การทะลุกรอบจะเกิดขึ้นในทิศทางของแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าแนวโน้มน่าจะดำเนินต่อไป
ในทางกลับกัน ราคาที่ทะลุกรอบรูปแบบไปไม่ได้อาจเป็นสัญญาณการกลับตัวของแนวโน้ม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราคาทะลุออกจากรูปแบบในทิศทางตรงกันข้ามกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นของตลาด
รูปแบบสามเหลี่ยมขาขึ้น (Ascending Triangle)
รูปแบบสามเหลี่ยมขาขึ้นเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ใช้กันทั่วไปในการเทรด forex ซึ่งช่วยให้เทรดเดอร์ตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลได้ว่าเมื่อใดควรเข้าหรือออกจากการเทรด รูปแบบขาขึ้นนี้เกิดขึ้นเมื่อราคาของคู่สกุลเงินขยับขึ้นและอยู่ในกรอบเส้นแนวโน้มสองเส้น ได้แก่ เส้นแนวต้านแนวนอน และเส้นแนวรับที่เพิ่มระดับขึ้น
ในการระบุรูปแบบสามเหลี่ยมขาขึ้น เทรดเดอร์ต้องมองหาชุดของจุดต่ำสุดที่สูงขึ้นที่เกิดเป็นเส้นแนวรับ และเส้นแนวต้านแนวนอนที่ราคาลงไปแตะหลายครั้งแต่ไม่ทะลุผ่าน ในขณะที่ราคายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเข้าใกล้ระดับแนวต้าน เทรดเดอร์มักมองหาการทะลุกรอบเหนือเส้นแนวต้านเป็นสัญญาณในการเข้าสู่สถานะซื้อ (Long Position)
แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องจำไว้ว่าการทะลุกรอบอาจไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป และราคาอาจทะลุเส้นแนวรับได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการเทขาย เทรดเดอร์ตัวบ่งชี้อื่นๆ ประกอบด้วย และทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจเทรด
รูปแบบสามเหลี่ยมขาลง (Descending Triangle)
รูปแบบสามเหลี่ยมขาลงเป็นรูปแบบกราฟขาลงที่เกิดขึ้นเมื่อราคาของคู่สกุลเงินแตะระดับแนวรับหลายครั้ง เกิดเป็นเส้นแนวรับแนวนอน ในขณะที่ราคาสูงสุดของคู่สกุลเงินสร้างเส้นแนวโน้มที่ลาดลง รูปแบบขาลงนี้บ่งชี้ว่าตลาดกำลังอยู่ในภาวะขาลง (Bearish Trend) และราคาอาจตกลงต่อไป
เทรดเดอร์มักมองหาจุดที่ราคาจะทะลุต่ำกว่าระดับแนวรับ ซึ่งจะยืนยันแนวโน้มขาลงและส่งสัญญาณถึงโอกาสที่เป็นไปได้ในการขายคู่สกุลเงิน ราคาเป้าหมายสำหรับรูปแบบนี้มักจะคำนวณโดยการวัดความสูงของรูปสามเหลี่ยมจากจุดสูงสุดไปยังแนวรับและคาดการณ์ระยะทางนั้นลงจากจุดที่ราคาทะลุกรอบ
สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าสามเหลี่ยมขาลงไม่ใช่แนวโน้มขาลงเสมอไป และเทรดเดอร์ควรใช้ตัวบ่งชี้และเทคนิคการวิเคราะห์อื่นๆ เพื่อยืนยันการตัดสินใจเทรดเสมอ
สามเหลี่ยมสมมาตร (Symmetrical Triangle)
รูปแบบสามเหลี่ยมสมมาตรคือรูปแบบการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ปรากฏบนกราฟราคาในตลาด forex รูปแบบนี้เรียกว่าสามเหลี่ยม “สมมาตร” เนื่องจากมีแนวโน้มสองเส้นที่เกิดจากของจุดต่ำสุด (Higher low) ที่ยกสูงขึ้นและจุดสูงสุด (Lower High) ที่ลดต่ำลงเบนเข้าหากัน ทำให้สามเหลี่ยมมีรูปร่างสมมาตร
รูปแบบดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงระยะรวมฐานในตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีการเคลื่อนไหวในตลาดเท่าๆ กัน ซึ่งส่งผลให้เกิดจุดต่ำสุดที่ยกสูงขึ้นและจุดสูงสุดที่ลดลง เนื่องจากราคาแกว่งไปมาระหว่างระดับแนวรับและแนวต้าน ขณะที่รูปแบบนี้ก่อตัวขึ้น เส้นแนวโน้มจะค่อยๆ เบนเข้าหากัน บ่งชี้ว่าราคาอาจทะลุกรอบเร็วๆ นี้
เมื่อราคาเคลื่อนที่ทะลุกรอบแนวรับหรือแนวต้าน (Breakout) ทิศทางมักจะเป็นไปตามแนวโน้มที่มีอยู่ก่อนการเกิดรูปแบบสามเหลี่ยมสมมาตร ตัวอย่างเช่น หากราคาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นก่อนที่จะเกิดรูปสามเหลี่ยมสมมาตร ราคาอาจจะทะลุกรอบเป็นแนวโน้มขาขึ้น ในทางกลับกัน หากราคาอยู่ในแนวโน้มขาลง ราคาอาจจะทะลุกรอบเป็นแนวโน้มขาลง
เทรดเดอร์สามารถใช้รูปแบบสามเหลี่ยมสมมาตรเพื่อช่วยระบุโอกาสในการเทรดที่เป็นไปได้ พวกเขาอาจรอให้เกิดการทะลุกรอบราคา (Breakout) แล้วจึงเข้าสู่การเทรดในทิศทางของการทะลุกรอบราคา พวกเขาอาจใช้ตัวบ่งชี้ทางเทคนิคหรือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ เพื่อยืนยันการตัดสินใจเทรด
สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่ารูปแบบสามเหลี่ยมสมมาตรไม่ได้ส่งผลให้เกิดการทะลุกรอบราคา (Breakout) เสมอไป และราคาอาจจะทะลุกรอบได้ไม่สำเร็จ เทรดเดอร์ควรใช้เทคนิคการจัดการความเสี่ยงเพื่อปกป้องเงินทุน และจัดการการเทรดของตนให้สอดคล้องกัน