การเทรดเป็นโอกาสที่น่าดึงดูดใจสำหรับใครหลายๆ คนเนื่องจากให้โอกาสในการเพิ่มความมั่งคั่ง ช่วยให้สุขภาพทางการเงินของคุณดีขึ้นได้ และยังเป็นวิธีการหาเลี้ยงชีพที่ยืดหยุ่นและสนุกสนานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลจำนวนมากที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเทรดมีแนวโน้มที่จะเสนอมุมมองในแง่ดีมากเกินไปเกี่ยวกับผลงานที่ทำได้ของเทรดเดอร์ และละเลยการที่ต้องพบเจอกับการขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะเทรดเดอร์ การเรียนรู้วิธีรับมือกับการขาดทุนเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเทรด แม้ว่าจะมีการเตรียมการเป็นอย่างดีและสมเหตุสมผล เทรดเดอร์ก็ไม่ได้คาดการณ์ถูกต้องเสมอไปเนื่องจากเหตุบังเอิญหรือลักษณะที่คาดเดาไม่ได้ของตลาดหุ้น ในบทความนี้ เราจะสรุปกลยุทธ์และหลักการในการรับมือกับการเทรดที่ขาดทุนเพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันไม่ให้ความสามารถในการเทรดของคุณลดลง การเข้าใจถึงวิธีรับมือกับการขาดทุนสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างความสำเร็จในระยะยาวกับความล้มเหลวในการเทรดได้ และด้วยการพัฒนาแนวทางที่มีระเบียบวินัยและความเต็มใจที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด คุณจะกลายเป็นเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จและเก็บเกี่ยวผลตอบแทนที่มาพร้อมกับมันได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือเราจะไม่พูดถึงกลยุทธ์การเทรดใดๆ แค่จัดการกับการขาดทุนที่แตกแขนงออกไป
สารบัญ:
การขาดทุนที่ “ดี” กับ “ไม่ดี”
ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าการต้องเจอกับการขาดทุนเป็นส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเส้นทางการเทรด กุญแจสำคัญในการรับมือกับการขาดทุนอย่างมีประสิทธิภาพคือต้องแน่ใจว่าเป็นการขาดทุนที่ “ดี” ไม่ใช่การขาดทุนที่ “ไม่ดี” ถึงจะกล่าวเช่นนั้น แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่คุณจะประสบความสำเร็จในอาชีพการเทรดโดยไม่พบเจอกับการขาดทุนที่ไม่ดีเลย การขาดทุนที่ดีคือการขาดทุนที่เข้ากับกลยุทธ์การเทรดโดยรวมของคุณ ขณะที่การขาดทุนที่ไม่ดีคือการขาดทุนที่เกิดขึ้นนอกกลยุทธ์การเทรดของคุณ สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการขาดทุนที่ดีอาจมีขนาดใหญ่กว่าการขาดทุนที่ไม่ดี แต่ความแตกต่างนั้นคือธรรมชาติของการขาดทุน สิ่งสำคัญอีกอย่างคือต้องทราบด้วยว่าการขาดทุนทั้งสองประเภทย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และทั้งสองประเภทสามารถเป็นโอกาสในการเรียนรู้อันมีค่าได้
เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะรู้สึกเสียใจหรือผิดหวังเมื่อคุณขาดทุน แต่สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่านี่เป็นเรื่องปกติในการเทรด วิธีหนึ่งในการรับมือกับการขาดทุนคือการมองว่าเป็นโอกาสในการประเมินกลยุทธ์ ระบุถึงจุดอ่อน และปรับปรุงแนวทาง ด้วยการวิเคราะห์การขาดทุนของคุณและพิจารณาว่าเป็นการขาดทุนที่ดีหรือไม่ดี คุณจะสามารถระบุความล้มเหลวในกลยุทธ์การเทรดหรือปฏิกิริยาทางจิตวิทยาของคุณต่อการขาดทุนได้ ปฏิกิริยาทางจิตวิทยาต่อการขาดทุนจะเป็นตัวกำหนดว่าคุณควรเข้าหาการเทรดอย่างไร และเราจะอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ด้านล่าง ในท้ายที่สุดแล้ว การรักษาทัศนคติเชิงบวกและยึดความเป็นจริงเมื่อต้องรับมือกับการขาดทุนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ การรับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเทรดตามธรรมชาติ และด้วยแนวทางที่มีระเบียบวินัยและความตั้งใจที่จะเรียนรู้ คุณจะสามารถเป็นเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นได้ในระยะยาว
การรับมือกับการขาดทุน
การรับมือกับการขาดทุนจากการเทรดไม่ใช่แค่การเรียนรู้จากความผิดพลาดเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการจัดการกับอารมณ์ด้วย ซึ่งนี่อาจเป็นงานที่ท้าทายเพราะคุณต้องตระหนักรู้ในตนเองและปรับตัวให้เข้ากับปฏิกิริยาของตนเอง ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นบุคคลประเภทที่ต้องการปิดจบการขาดทุนในทันที สิ่งสำคัญคือต้องประเมินและเรียนรู้จากการขาดทุนโดยเร็วที่สุด ในทางกลับกัน หากคุณมักจะผิดหวังได้ง่ายจากความล้มเหลว อาจเป็นความคิดที่ดีที่จะหยุดพักจากการเทรด เพื่อว่าเมื่อคุณกลับมา คุณจะมีเวลาในการประมวลผลการขาดทุนและไม่ปล่อยให้มันควบคุมการตัดสินใจในอนาคต แม้ว่าการตั้งใจอย่างมากเพื่อพัฒนาทักษะการเทรดของคุณจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็จำเป็นเช่นกันที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานให้ดีและไม่ปล่อยให้การขาดทุนมากัดกินเวลาชีวิตของคุณ
มีบางสิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยงเมื่อต้องรับมือกับการขาดทุน สิ่งเหล่านี้รวมถึงการเพิกเฉยต่อการขาดทุนหรือมีทัศนคติไม่กังวล รวมถึงการโทษปัจจัยภายนอก เช่น ที่ปรึกษาหรือแหล่งข้อมูลที่ทำให้คุณขาดทุน ซึ่งแม้ว่าการประเมินข้อมูลใดๆ ที่มอบให้กับคุณอย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งสำคัญ แต่ท้ายที่สุดแล้วคุณคือผู้ตัดสินใจ และคุณควรรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น (ซึ่งรวมถึงทางเลือกของคุณในการเลือกที่ปรึกษา/แหล่งข้อมูล)
ในอีกด้านหนึ่ง มีขั้นตอนเชิงบวกบางประการที่คุณสามารถเลือกทำได้เมื่อต้องรับมือกับการขาดทุน สิ่งเหล่านี้รวมถึงการวิเคราะห์ปฏิกิริยาทางอารมณ์ของคุณต่อการขาดทุน เช่น รู้สึกเศร้าหรือโกรธ และต่อการเทรดที่ทำกำไร เช่น การโลภเกินไป เมื่อเข้าใจการตอบสนองทางอารมณ์ คุณจะสามารถควบคุมอารมณ์เหล่านั้นได้ดีขึ้นและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น สิ่งสำคัญอีกอย่างคือต้องให้เวลากับการไตร่ตรองกลยุทธ์การเทรดของคุณและระบุจุดอ่อนหรือจุดที่ต้องปรับปรุง ด้วยการทำเช่นนี้ คุณสามารถเปลี่ยนการขาดทุนให้กลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้อันมีค่าและเป็นเทรดเดอร์ที่เก่งขึ้นได้ในที่สุด
เรียนรู้จากการขาดทุน
เมื่อเรียนรู้การขาดทุนจากการเทรด กุญแจสำคัญคือการใช้ประสบการณ์นั้นในเชิงบวก ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบสาเหตุของการขาดทุน วิเคราะห์ปัญหา และดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ขั้นแรกคือพิจารณาว่าการขาดทุนนั้นเกิดจากข้อบกพร่องในกลยุทธ์การเทรดของคุณหรือพฤติกรรมนอกกลยุทธ์ หากมีปัญหาที่กลยุทธ์ นั่นอาจเกี่ยวข้องกับการตั้งค่า Stop-Loss ข้อมูลชี้วัดที่คุณใช้ หรือข้อเท็จจริงที่ว่าคุณไม่ได้ทดสอบกลยุทธ์อย่างถี่ถ้วน และนี่เป็นตัวอย่างเพียงบางส่วน ปัญหาเกี่ยวกับกลยุทธ์นั้นมักจะจัดการได้ง่ายกว่า เนื่องจากเป็นรูปแบบการวิเคราะห์มากกว่า (และจะดีมากถ้ามีการจดบันทึกการเทรดเพื่อให้ขั้นตอนนี้ง่ายขึ้น)
หากการขาดทุนเกิดจากพฤติกรรมนอกกลยุทธ์ คุณจะต้องพิจารณาบุคลิกภาพของคุณอย่างใคร่ครวญมากขึ้น พฤติกรรมนอกกลยุทธ์อาจเกิดจากการกลัวตกกระแสหรือ Fear Of Missing Out (FOMO), การพยายามไล่ตามการขาดทุน และความเครียด ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณลงทุนในหุ้นที่มีโอกาส 50% ที่จะเพิ่มขึ้น 10% และมีโอกาส 50% ที่จะลดลง 10% ในช่วงเวลาใดก็ตาม (ซึ่งทำให้ง่ายต่อการอธิบายทางคณิตศาสตร์) และสมมติว่าคุณจะพยายามไล่ตามการขาดทุนของคุณอยู่เสมอเพื่อที่คุณจะได้ลงทุนต่อไปจนกว่าคุณจะทำกำไรได้เป็นบวกจำนวน £10 จากการลงทุนเริ่มแรกจำนวน £100 ในครั้งแรก คุณอาจทำกำไรได้ £10 หรือขาดทุน £10 โดยมีโอกาสเป็นไปได้เท่ากัน หากคุณขาดทุนในครั้งแรก เพื่อที่จะทำกำไร £10 ในครั้งถัดไป คุณจะต้องซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อที่ว่าหากหุ้นปรับขึ้น 10% กำไรที่ได้รับจากการปรับขึ้นนี้จะรวมถึง £10 ที่คุณอยากได้ในครั้งนี้ และ £10 ที่คุณเสียไปแล้ว ดังนั้นคุณจะต้องซื้อหุ้นเพิ่มอีก £110 คุณมีโอกาสที่จะขาดทุนอีกครั้ง และคราวนี้เป็นจำนวนเงินที่มากขึ้น คุณจะเสียเงินไปแล้วครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนเริ่มแรกจากการขาดทุนเพียงสามครั้งติดต่อเท่านั้น และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยโอกาส 12.5% ไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าคุณจะสามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้ทุกครั้งเพื่อปรับปรุงการขาดทุน ดังนั้นคุณจึงต้องยอมประนีประนอมกับสถานะการเทรดของคุณในการที่จะไล่ตามการขาดทุน นี่เป็นตัวอย่างที่สุดโต่งและทำให้เข้าใจได้ง่าย แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการไล่ตามการขาดทุนโดยไม่ได้คิดถึงโอกาสในการทำกำไรอย่างเป็นจริง จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นแนวคิดที่เรียกว่า “เหตุผลวิบัติของนักพนัน” ได้อย่างชัดเจน นั่นคือเมื่อบุคคลหนึ่งเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เป็นอิสระหนึ่งได้รับอิทธิพลจากผลลัพธ์ของเหตุการณ์ที่เป็นอิสระครั้งก่อนหน้า และเป็นการดีที่ควรจะศึกษาเกี่ยวกับอคติทางความคิดที่คนส่วนใหญ่จะแสดงออกมาเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน เพราะคุณจะรับรู้ได้เมื่อพฤติกรรมของคุณแสดงความอคตินั้นออกมา
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรทราบก็คือมีตัวเลือกที่สามสำหรับการขาดทุนที่เรายังไม่ได้พูดถึง นั่นคือการขาดทุนแบบสุ่มเนื่องจากกลไกตลาดที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ในกรณีนี้ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ลำเอียงในการหาเหตุผลเข้าข้างตนเองจากการขาดทุนและซื่อสัตย์กับตัวเองตลอดเวลา ซึ่งอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะถือว่าการขาดทุนทั้งหมดนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดแบบสุ่ม หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อาจคาดเดาได้ แต่สิ่งนี้จะส่งผลเสียต่อความสามารถในการเทรดเนื่องจากคุณจะไม่เรียนรู้จากความผิดพลาดของคุณเลย
เมื่อคุณวิเคราะห์หาสาเหตุของการขาดทุนได้แล้ว คุณก็สามารถดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่อได้ หากมีปัญหาที่กลยุทธ์ คุณอาจต้องแก้ไขแนวทาง ทดสอบอย่างละเอียด หรือขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาหรือเทรดเดอร์มืออาชีพ หากเป็นปัญหานอกกลยุทธ์ คุณอาจต้องพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ จัดการกับความเครียด หรือมีระเบียบวินัยมากขึ้นกับนิสัยการเทรดของคุณ
สรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับการขาดทุนจากการเทรด
โดยสรุปแล้ว การเทรดเป็นวิธีที่น่าตื่นเต้นและมีความยืดหยุ่นในการหาเลี้ยงชีพและช่วยให้สุขภาพทางการเงินของคุณดีขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการต้องเจอกับการขาดทุนเป็นส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเส้นทางการเทรด การขาดทุนที่ดีคือการขาดทุนที่เข้ากับกลยุทธ์การเทรดโดยรวมของคุณ ขณะที่การขาดทุนที่ไม่ดีคือการขาดทุนที่เกิดขึ้นนอกกลยุทธ์การเทรดของคุณ แต่ไม่ว่าจะขาดทุนในแบบใด สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้จากมันและรับมืออย่างมีประสิทธิผล ทั้งในเชิงวิเคราะห์และทางอารมณ์ การใช้เวลาไตร่ตรองกลยุทธ์การเทรดของคุณและระบุจุดอ่อนหรือจุดที่ต้องปรับปรุงเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นเทรดเดอร์ที่เก่งขึ้น หากการขาดทุนเกิดจากข้อบกพร่องในกลยุทธ์การเทรด นั่นอาจเกี่ยวข้องกับการตั้งค่า Stop-Loss ข้อมูลชี้วัดที่คุณใช้ หรือข้อเท็จจริงที่ว่าคุณไม่ได้ทดสอบกลยุทธ์อย่างถี่ถ้วน ในทางตรงกันข้าม หากการขาดทุนเกิดจากพฤติกรรมนอกกลยุทธ์ ก็ต้องมีการพิจารณาใคร่ครวญมากขึ้น แต่ไม่ว่าในกรณีใด การเข้าใจถึงสาเหตุการขาดทุนและทำการแก้ไขสามารถช่วยคุณในการเปลี่ยนการขาดทุนให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้อันมีค่า ซึ่งนำไปสู่การเป็นเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวในที่สุด