การดำเนินกิจการของเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่นั้นยากเกินกว่าที่จะคาดเดาและส่งผลกระทบกว้างไกลเกินกว่าพรมแดนของประเทศที่พวกเขาตั้งอยู่ เมื่อคิดถึงบริษัทเหล่านี้บ่อยครั้งเราจะคิดว่าเป็นบริษัทที่มีสัญชาติสหรัฐอเมริกา เพราะว่าราว 50% ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกโดยวัดจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดนั้นล้วนมาจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักลงทุนและนักเทรด ที่จะต้องรับทราบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่นอกสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มาจากสหรัฐอเมริกา
ในบทความนี้ เราจะพิจารณาที่ข้อมูลต่อไปนี้:
บริษัทยักษ์ใหญ่นั้นวัดจากอะไร
ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ เราจัดอันดับขนาดบริษัทเหล่านี้ตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (หรือที่เรียกว่าทรัพย์สินสุทธิ) ซึ่งกำหนดโดยการคูณราคาหุ้นของบริษัทด้วยจำนวนหุ้นของบริษัทที่ชำระแล้ว ค่านี้ทำให้นักลงทุน/นักเทรดได้รู้ข้อมูลในด้านมุมมองของสาธารณชนที่มีต่อมูลค่าของบริษัท ช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจอย่างชาญฉลาดเมื่อลงทุน/ซื้อขายหุ้น
สิบอันดับบริษัทนอกสหรัฐที่ใหญ่ที่สุด[1]
[1] ข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอ้างอิงจาก https://companiesmarketcap.com 26/8/2022
อันดับ | บริษัท | ประเทศ | มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (พันล้านดอลลาร์) |
---|---|---|---|
1 | ซาอุดี อารัมโก | ซาอุดีอาระเบีย | 2305 |
2 | ทีเอสเอ็มซี | ไต้หวัน | 446 |
3 | เทนเซ็นต์ | จีน | 407 |
4 | กุ้ยโจวเหมาไถ | จีน | 348 |
5 | แอลวีเอ็มเอช | ฝรั่งเศส | 340 |
6 | เนสท์เล่ | สวิตเซอร์แลนด์ | 332 |
7 | ซัมซุง | เกาหลีใต้ | 303 |
8 | โรช | สวิตเซอร์แลนด์ | 272 |
9 | อาลีบาบา | จีน | 264 |
10 | โนโว นอร์ดิสค์ | เดนมาร์ก | 250 |
1. ซาอุดี อารัมโก (2222)
บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่ได้มีสัญชาติสหรัฐอเมริกาและบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกคือ ซาอุดี อารัมโก ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติจากซาอุดีอาระเบียที่รัฐบาลถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยมีมูลค่าตลาด 2.305 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทเดียวที่ใหญ่กว่าซาอุดี อารัมโก นั่นคือ แอปเปิ้ล บริษัทนี้คือบริษัทผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริหารแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกว่า 100 แห่ง ซาอุดี อารัมโกเป็นบริษัทผลิตคาร์บอนเดี่ยวรายใหญ่ที่สุดในโลก
ซาอุดี อารัมโกก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ดำเนินธุรกิจในซาอุดีอาระเบีย บริษัทแห่งนี้มีความเป็นมาที่ไม่ดีนัก โดยเริ่มแรกมีฐานะเป็นบริษัทในเครือของบริษัทสัญชาติอเมริกัน สแตนดาร์ด ออยล์ ออฟ แคลิฟอร์เนีย (SoCal) ในปี 1976 เนื่องจากความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจึงเข้าควบคุมทรัพย์สินทั้งหมดของซาอุดี อารัมโกโดยสมบูรณ์ ในปี 2019 ซาอุดี อารัมโกได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นจำนวน 5% ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) การเสนอขายหุ้นครั้งนี้กลายเป็นการเสนอขายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทสามารถระดมทุนได้ 25.6 พันล้านดอลลาร์ใน ตลาดหลักทรัพย์ซาอุดีอาระเบีย
สำนักงานใหญ่ของซาอุดี อารัมโก ตั้งอยู่ที่เมืองดาห์ราน ประเทศซาอุดีอาระเบีย และซีอีโอคือ อามิน เอช. นาสเซอร์ ที่ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2015 ในปี 2022 เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ซาอุดี อารัมโกบันทึกผลกำไรรายไตรมาสของบริษัทมหาชนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 48.4 พันล้านดอลลาร์ และในปี 2021 ซาอุดี อารัมโกรายงานอัตราการเติบโตของรายได้สูงถึง 74.20%
2. ทีเอสเอ็มซี (TSM)
อันดับสองในรายการของเราคือ บริษัทผลิตสารกึ่งตัวนำไต้หวัน (TSMC) โรงงานผลิตสารกึ่งตัวนำที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลก สารกึ่งตัวนำเป็นคำกว้างๆ ที่เรียกสารที่พบในอุปกรณ์ไฟฟ้าสมัยใหม่ทุกชนิด ทีเอสเอ็มซีก่อตั้งขึ้นในปี 1987 โดยมอร์ริส จาง เขาเพิ่งเกษียณอายุจากตำแหน่งซีอีโอในปี 2018 และส่งมอบตำแหน่งซีอีโอให้กับซี. ซี. เว่ย โดยมีมาร์ค หลิวเป็นประธานกรรมการ ทีเอสเอ็มซีจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันและตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (ถือเป็นบริษัทไต้หวันแห่งแรกที่บรรลุเป้าหมายนี้ได้สำเร็จ) ลูกค้าของทีเอสเอ็มซี ได้แก่ แอปเปิ้ล เออาร์เอ็ม และอินวิเดีย
ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว คู่แข่งสำคัญของทีเอสเอ็มซีมีทั้งอินวิเดีย อินเทล และเท็กซัส อินสตรูเมนต์ เป็นต้น
ทีเอสเอ็มซีมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองซินจู๋ ประเทศไต้หวัน จึงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างไต้หวันและสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น ทีเอสเอ็มซีจึงพยายามบรรเทาปัญหานี้ด้วยการขยายกิจการไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้ต่อปีของทีเอสเอ็มซีในปี 2021 อยู่ที่ 15.19%
3. เทนเซ็นต์ (TCEHY)
อันดับที่สามของเรา เทนเซ็นต์ บริษัทข้ามชาติที่ทำหลากหลายอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและความบันเทิงของจีนที่ก่อตั้งในปี 1998 โดยโพนี่ หม่า (ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งซีอีโอและประธานกรรมการ) ชาร์ลส์ เฉิน จาง จื้อตง สวู่เฉินเย่ และ เจิ้งลี่ฉิง บริษัทตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เทนเซ็นต์ให้บริการในภาคส่วนธุรกิจต่างๆ เช่น โซเชียลเน็ตเวิร์ก วิดีโอเกมและเพลง และถือหุ้นในบริษัทต่างๆกว่า 500 แห่ง
เทนเซ็นต์ให้บริการแอปโซเชียลมีเดียวีแชตตั้งแต่ปี 2011 โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคน ในปี 2015 เทนเซ็นต์ได้แยกกิจการสาขาออกมาสร้างธนาคารออนไลน์ วีแบงก์ นอกจากนี้ เทนเซ็นต์ยังเป็นเจ้าของบริษัทเกมชื่อดัง ไรออท เกมส์ (ผู้พัฒนาเกมลีกออฟเลเจ็นดส์) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในหลายบริษัท รวมถึงซูเปอร์เซลล์ (ผู้พัฒนาเกมแคลชออฟแคลนส์) และถือหุ้นส่วนน้อยในบริษัทอื่นๆ เช่น อีปิคเกม (ผู้พัฒนาเกมฟอร์ทไนท์) เทนเซ็นต์ยังถือสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันเอ็นบีเอในประเทศจีนอีกด้วย
ในปีนี้ เทนเซ็นต์ได้เริ่มซื้อหุ้นของตัวเองอย่างจริงจังเพื่อพยายามหยุดไม่ให้ราคาหุ้นตก หลังจากที่โพรซัส (ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเทนเซ็นต์) ประกาศว่าจะขายหุ้นเทนเซ็นต์ส่วนหนึ่งจากหุ้น 28.8% ที่ถือครองอยู่ รายรับของเทนเซ็นต์ลดลง 4.35% ในไตรมาสที่สองของปี 2022 แต่มีรายงานว่าผลประกอบการเพิ่มขึ้นในเชิงบวกถึง 24.62% ของทั้งปี 2021
4. กุ้ยโจวเหมาไถ (600519)
อันดับที่สี่คือกุ้ยโจวเหมาไถ บริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเหมาไถ ประเทศจีน กุ้ยโจวเหมาไถมีรัฐบาลจีนถือหุ้นบางส่วน ประชาชนถือหุ้นบางส่วน โดยมีกุ้ยโจวเหมาไถกรุ๊ปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ปี 2001 กุ้ยโจวเหมาไถผลิตสุราเหมาไถ ซึ่งก็คือไป๋จิ่ว (เหล้าจีน) ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยในปี 2018 เพียงปีเดียว มีการผลิตถึง 70,200 ตัน
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กุ้ยโจวเหมาไถมีอัตรารายได้เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 15.76%
5. แอลวีเอ็มเอช (MC)
บริษัทยุโรปลำดับแรกในรายการของเราคือแอลวีเอ็มเอช โมเอต์ เฮนเนสซี่ หลุยส์ วิตตอง (LVMH) ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติสัญชาติฝรั่งเศสที่ก่อตั้งขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่างหลุยส์ วิตตอง (แบรนด์แฟชั่นสุดหรู) และโมเอต์ เฮนเนสซี่ (แบรนด์เครื่องดื่มสุดหรู) แอลวีเอ็มเอชเชี่ยวชาญในด้านแบรนด์หรูหรา มีบริษัทในเครือ ได้แก่ ดิออร์ จีวองชี่ เคนโซและทิฟฟานีแอนด์โค
แอลวีเอ็มเอชก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 1980 โดยเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (ซึ่งยังคงเป็น CEO จนถึงทุกวันนี้) เพื่อรวบรวมแบรนด์หรูหรามีชื่อเสียงมาไว้ในบริษัทเดียวกัน ผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียวในแอลวีเอ็มเอชคือ อาร์โนลต์ แฟมิลี่ กรุ๊ป แอลวีเอ็มเอชมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ในปี 2019 แอลวีเอ็มเอชได้ต่อสู้ทางกฎหมายกับทิฟฟานีแอนด์โคเรื่องการเข้าซื้อกิจการของบริษัทอัญมณีที่แอลวีเอ็มเอชเสนอ บริษัททั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในท้ายที่สุด การเข้าซื้อกิจการทิฟฟานีแอนด์โคเต็มรูปแบบสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2021 ไม่นานมานี้ แอลวีเอ็มเอชได้เริ่มใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและแนวคิดของโทเคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (NFTs) บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสกุลเงินดิจิตอล
คู่แข่งรายใหญ่ของแอลวีเอ็มเอชในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่พวกเขาดำเนินธุรกิจอยู่ ได้แก่ คริสเตียนดิออร์ (อุตสาหกรรมแฟชั่น) และเรมี คอยน์โทร (อุตสาหกรรมสุรา) แอลวีเอ็มเอชรายงานอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 43.82% ในปี 2021
6. เนสท์เล่ (NESN)
อันดับที่หก ได้แก่ เนสท์เล่ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเวอแว ในสวิตเซอร์แลนด์ เนสท์เล่เป็นบริษัทอาหารที่ใหญ่ที่สุดที่ถือครองหุ้นทั้งหมดโดยภาคเอกชน ดำเนินกิจการใน 189 ประเทศ
เนสท์เล่ก่อตั้งขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของสวิสสองแห่ง ในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 เนสท์เล่เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าซื้อกิจการ การควบรวมกิจการ และการขยายกิจการระหว่างประเทศ แบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดของเนสท์เล่ ได้แก่ เนสเพรสโซ คิทแคท และแม็กกี้ นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น ลอรีอัล อีกด้วย เนสท์เล่ยังมีอดีตที่เป็นที่ถกเถียง พวกเขายังคงเผชิญกับผลกระทบต่อเนื่องจากการตลาดนมผงดัดแปลงสำหรับทารกและการใช้แรงงานเด็ก
ซีอีโอคนปัจจุบันของเนสท์เล่คือ อูล์ฟ มาร์ค ชไนเดอร์ ประธานกรรมการคนปัจจุบันคือ พอล บูลค์ เมื่อไม่นานนี้ เนสท์เล่ต้องขึ้นราคาเพื่อตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจากราคาน้ำมันในตลาดโลก
คู่แข่งของเนสท์เล่ประกอบด้วยผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่อื่นๆ เช่น เคอร์รี่ ยูนิลีเวอร์ และเป๊ปซี่โค เนสท์เล่รายงานการเติบโตของรายได้ที่ค่อนข้างต่ำในปี 2021อยู่ที่ 3.25% เท่านั้น
7. ซัมซุง (005930)
ข้ามกลับมาที่เอเชีย บริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 7 ของเรา ซัมซุงเป็นกลุ่มบริษัทที่ก่อตั้งในปี 1938 โดยอีบย็องช็อล แต่ไม่ได้เข้าสู่อุตสาหกรรมที่จะทำให้ซัมซุงกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนช่วงปี 1960 และ 1970 เมื่อซัมซุงเข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง และการต่อเรือ
รายได้ของซัมซุง 70% ตั้งแต่ปี 2012 มาจากบริษัทในเครือ ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในด้านรายได้ ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท รวมถึงสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต บริษัทในเครืออื่นๆ ของซัมซุง ได้แก่ ซัมซุง เฮฟวี่ อินดัสทรี และซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง
ซัมซุงมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประธานกรรมการคืออีก็อนฮี ซัมซุงกำลังพิจารณาเปิดตัวแพลตฟอร์มคริปโตเคอร์เรนซีในปี 2023
8. โรช (ROG)
บริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์บริษัทที่สองในการจัดอันดับของเราคือ เอฟ. ฮอฟฟ์แมน-ลา โรช เอจี หรือโรช ซึ่งเป็นบริษัทด้านการดูแลสุขภาพที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1896 ตระกูลฮอฟฟ์แมนและตระกูลโอเอรี ทายาทของผู้ก่อตั้ง เป็นเจ้าของหุ้นเพียงครึ่งเดียวที่มีสิทธิออกเสียงในโรช โรชเป็นบริษัทเภสัชกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก สามารถแบ่งออกเป็นสองหน่วยงาน คือ แผนกเภสัชภัณฑ์และแผนกเคมีวินิจฉัยโรค
โรชคือผู้ลงเงินในด้านการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์มากที่สุดในโลก และพัฒนายาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ไวรัส และโรคเมตาบอลิซึม เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุมัติผลิตภัณฑ์ของโรช โซฟลูซา ซึ่งเป็นยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับเด็กอายุไม่เกินห้าขวบ
ซีอีโอของโรชคือ เซเฟอริน ชวาน ประธานกรรมการคือ คริสตอฟ ฟรานซ์ บริษัทตั้งอยู่ในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คู่แข่งของโรช ได้แก่ โนโว นอร์ดิสค์ โนวาร์ติส และไฟเซอร์ ในปี 2021 โรชรายงานอัตราการเติบโตของรายได้ที่ 7.68%
9. อาลีบาบา (BABA)
ลำดับรองสุดท้ายในรายการนี้คือ อาลีบาบากรุ๊ป บริษัทจีนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ การค้าปลีก และเทคโนโลยี อาลีบาบามีสำนักงานใหญ่ในเมืองหางโจว ประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 1999 โดยแจ็ค หม่า ร่วมกับเพื่อนและนักเรียนของเขาอีก 17 คน อาลีบาบาเป็นหนึ่งในบริษัทอีคอมเมิร์ซและการค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเว็บไซต์ของตนเอง ได้แก่ อาลีบาบา เถาเป่า และทีมอลล์ นอกจากนี้ แอนท์กรุ๊ป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาลีบาบา ยังเป็นกลุ่มบริการทางการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอีกด้วย อาลีบาบายังพยายามขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจความบันเทิงและสื่อโดยใช้ดิจิทัลมีเดียแอนด์เอ็นเตอร์เทนเมนท์กรุ๊ป
อาลีบาบาทำการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชน (IPO) ในปี 2014 ซึ่งในขณะนั้นเป็นการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ (ตำแหน่งนี้ตกเป็นของซาอุดี อารัมโกในเวลาต่อมา) หุ้นของอาลีบาบาเพิ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นทางการเงินของรัฐบาลจีน และข่าวที่ว่าสหรัฐฯ และจีนจะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการตรวจสอบองค์กรโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ของบริษัทจีน
คู่แข่งของอาลีบาบา ได้แก่ แอมะซอน (ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของสหรัฐฯ และของโลก) เช่นเดียวกับราคูเท็น และอีเบย์ อาลีบาบามีพนักงานจำนวน 254,941 คนทั่วโลก และจะต้องฟื้นฟูรายได้ที่ลดลง 1.42% ในไตรมาสที่สองของปี 2022
10. โนโว นอร์ดิสค์ (NVO)
ลำดับสุดท้าย โนโว นอร์ดิสค์ บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติเดนมาร์ก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองบักส์แวร์ด ประเทศเดนมาร์ก โนโว นอร์ดิสค์เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเบาหวาน และมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ เช่น ภาวะห้ามเลือด การบำบัดด้วยฮอร์โมนการเจริญเติบโต และการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน โนโว นอร์ดิสค์ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างโนโว อินดัสทริ และนอร์ดิสก์ เกนทอฟต์ ทำให้โนโว นอร์ดิสค์กลายเป็นผู้ผลิตอินซูลินรายใหญ่ที่สุดในโลก ประธานกรรมการของโนโว นอร์ดิสค์คือเฮลเก ลันด์ ซีอีโอและประธานบริษัทคือ ลาร์ส ฟรัวการ์ด เยอร์เกนเซ่น รายได้ของโนโว นอร์ดิสค์ 33% มาจากการขายอินซูลิน แต่ทางโนโว นอร์ดิสค์กำลังพยายามขยายฐานรายได้ไปยังการรักษาที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่ายอดรวมรายได้นี้จะลดลงในอนาคต
คู่แข่งของโนโว นอร์ดิสค์ ได้แก่ โรช ไฟเซอร์ และซาโนฟี่ โนโว นอร์ดิสค์รายงานการเติบโตของรายได้ในไตรมาสที่สองของปี 2022 อยู่ที่ 10.91% ของรายได้รวมจากทั้งปี 2021
ประเด็นสำคัญ
คุณควรนำความรู้เบื้องต้นเรื่องสิบอันดับบริษัทนอกสหรัฐที่ใหญ่ที่สุดตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดข้างต้น ไปใช้เป็นหนทางการค้นคว้าในอนาคตเพื่อตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเงินทั่วโลกก่อนที่จะทำการตัดสินใจทางการเงินใดๆ และเราหวังว่าข้อมูลที่นำเสนอข้างต้นจะลึกซึ้งเพียงพอที่จะให้ความเข้าใจในเรื่องผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นและความเสี่ยงของบริษัทนอกสหรัฐอเมริกาบางแห่ง
หากคุณชอบโพสต์นี้ คุณอาจจะอยากลองอ่าน สิบอันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ของเรา