แนวรับและแนวต้าน
แนวรับและแนวต้านคืออะไร
สงครามระหว่างผู้ซื้อ (อุปสงค์) และผู้ขาย (อุปทาน) เป็นกุญแจสำคัญในความเคลื่อนไหวของราคา ในการวิเคราะห์ทางเทคนิค สิ่งเหล่านี้จะสร้างสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นระดับแนวรับและแนวต้าน
เมื่อราคาตราสารแตะระดับที่อุปทานมากกว่าอุปสงค์ การที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจะชนเพดานแล้วเริ่มตกลงมา โดยจะทิ้งห่างจุดสูงสุดของราคาและจะเกิดแนวต้านขึ้น
เมื่อตราสารมีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน จะมีการสร้างฐานของราคาและราคาจะเริ่มปรับตัวขึ้นไป โดยจะเกิดจุดต่ำสุดและก่อตัวเป็นแนวรับ
ดังที่คุณเห็นในภาพประกอบข้างต้น จุดต่ำสุดของราคาจะทำหน้าที่เป็นแนวรับ ขณะที่จุดสูงสุดจะบ่งชี้ถึงแนวต้าน โดยแนวรับจะแสดงระดับที่เทรดเดอร์ต้องการซื้อ ขณะที่แนวต้านจะเป็นระดับที่เทรดเดอร์ต้องการขาย
ระดับแนวรับและแนวต้านเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านจิตวิทยาตลาดและเป็นภาพบนกราฟของอุปสงค์และอุปทาน
ในภาพข้างต้น คุณยังสามารถเห็นการทะลุเหนือแนวต้านซึ่งหลังจากนั้นอาจกลายเป็นระดับแนวรับใหม่
แนวรับเก่าจะกลายเป็นแนวต้านใหม่และแนวต้านเก่าจะกลายเป็นแนวรับใหม่
เมื่อเกิดการทะลุระดับเหล่านี้ อุปสงค์และอุปทานรวมถึงจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวของราคาจะได้รับการพิจารณาใหม่โดยเปลี่ยนแปลงไป หลังจากนั้น จะมีการกำหนดแนวรับและแนวต้านใหม่ ดังนั้น เมื่อมีการทะลุระดับแนวรับหรือแนวต้าน หน้าที่ของแนวดังกล่าวก็มักจะเปลี่ยนไปตรงกันข้าม
หากราคาปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับแนวรับ ระดับดังกล่าวก็จะกลายเป็นแนวต้าน หากราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับแนวต้าน ระดับดังกล่าวก็จะกลายเป็นแนวรับ
หากต้องการพิจารณาว่าการกลับตัวที่เกิดขึ้นเป็นการกลับตัวจริงหรือไม่ สิ่งสำคัญก็คือราคาต้องเคลื่อนไหวทะลุแนวรับหรือแนวต้านอย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ มักจะมีการย่อตัวลงมาจากระดับที่ทะลุก่อนที่จะเคลื่อนไหวในทิศทางที่ทะลุต่อไป
การเทรดด้วยแนวรับและแนวต้าน
การวิเคราะห์แนวรับและแนวต้านเป็นส่วนสำคัญของการวิเคราะห์เทรนด์ซึ่งคุณสามารถใช้เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเทรดและระบุเวลาที่เทรนด์อาจกลับตัวได้
ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังต้องการเทรด Long คุณสามารถลองค้นหาระดับแนวรับสำคัญที่กำลังมีและใช้เป็นจุดเข้าเทรดได้ นอกจากนี้ หากหลังจากนั้นคุณพบระดับแนวต้านที่ราคาทดสอบมาหลายครั้งแต่ยังผ่านไปไม่ได้ คุณอาจตัดสินใจปิดสถานะเมื่อราคาปรับตัวไปยังระดับดังกล่าวอีกครั้ง
อาจมีการประเมินว่าตลาดพบว่ายากที่จะทะลุแนวต้านดังกล่าวและมีอัพไซต์จำกัด จึงมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวลงไปมากขึ้น เทรดเดอร์มักจะใช้แนวรับหลักเป็น Stop-loss เมื่อเปิดสถานะ Long
หากคุณกำลังเทรด Short คุณควรพิจารณาแนวต้านหลักเป็นจุดเข้าซื้อ และแนวรับเป็นเป้าราคา/การทำกำไรที่อาจเกิดขึ้น
ในกราฟ USD/JPY ที่แสดงข้างต้น ตลอดไตรมาส 2 ปี 2019 จนถึงไตรมาส 3 ระดับแนวรับเก่าได้กลายเป็นแนวต้านเนื่องจากราคาตกลงมาที่ระดับต่ำกว่าและถูกเทขาย อย่างไรก็ตาม อารมณ์ตลาดได้เปลี่ยนไปในเดือนกันยายน 2019 และส่งผลให้สถานะ Short ถูกบังคับปิด